โครงการก่อสร้างดุสิตเซ็นทรัลพาร์ค Dusit Central Park เป็นโครงการ Mixed-Use ประกอบด้วย โรงแรม อาคารชุดพักอาศัย อาคารสำนักงาน และศูนย์การค้า ซึ่งก่อสร้างในเขตกรุงเทพชั้นในบนถนนสีลมตัดกับถนนพระราม 4 โครงการมีพื้นที่จอดรถใต้ดินเต็มพื้นที่โครงการ และมีชั้นใต้ดิน 4 ชั้น ขุดลึกมากที่สุด -21.00 ม. ชั้นใต้ดินลึกของโครงการในส่วนก่อสร้างพื้นที่โรงแรม (Zone A) ก่อสร้างในเขตปลอดภัยรถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT Protection Zone) โดยการก่อสร้างชั้นใต้ดินลึกของโครงการจะส่งผลกระทบต่ออุโมงค์ทางวิ่งรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล (รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน) บริเวณสถานีสีลม ซึ่งอุโมงค์ทางวิ่งมีลักษณะอุโมงค์ซ้อน (Vertical Stack) อุโมงค์บนอยู่ในชั้นดินเหนียวอ่อนและแข็งปานกลาง ในขณะที่อุโมงค์ล่างอยู่ในชั้นดินเหนียวแข็งและชั้นทราย ชั้นใต้ดินโครงการ Dusit Central Park แบ่งการก่อสร้างชั้นใต้ดินออกเป็น 4 โซน ได้แก่ Zone A (โรงแรม) Zone B (ที่พักอาศัย) Zone C1 (สำนักงาน) Zone C2 (ศูนย์การค้า) การก่อสร้างชั้นใต้ดินทั้ง 4 โซนก่อสร้างไม่พร้อมกัน โดยรอบนอกของโครงการชั้นใต้ดินก่อสร้างด้วยระบบกำแพงไดอะแฟรมวอลล์ (Diaphragm Wall, D-Wall) ในขณะที่กำแพงแบ่งโซนออกแบบเป็นกำแพงเสาเข็มพืด (Contiguous Pile Wall) โดยการก่อสร้างเริ่มที่ Zone A ซึ่งอยู่ติดกับถนนพระราม 4 ก่อสร้างในเขตปลอดภัยรถไฟฟ้าใต้ดิน เมื่อ Zone A ขุดลึกถึงความลึกสุดท้าย (Final Depth) ด้วยระบบค้ำยัน Zone B ซึ่งอยู่ติดกับ Zone A ไปทางด้านหลังโครงการ จึงเริ่มการขุด ทำให้ระบบป้องกันดินพังเกิดการพฤติกรรมการเคลื่อนตัวของกำแพงเสาเข็มพืดที่ใช้แบ่งโซนการก่อสร้าง (Yoyo Effect) ในส่วน Zone C1 และ C2 ก็จะเริ่มขุดเมื่อ Zone B เริ่มงานขุดเช่นเดียวกัน
การประเมินผลกระทบจากการขุดชั้นใต้ดินลึกของโครงการใช้วิธีไฟไนอิลิเมนต์ (Finite Element Method, FEM) โดยจำลองขั้นตอนการก่อสร้างในการวิเคราะห์เพื่อให้ครอบคลุมทุกขั้นตอนการก่อสร้างโดยการ Trial and Error ระบบค้ำยันเพื่อให้ผลกระทบต่ออุโมงค์ทางวิ่งรถไฟฟ้าใต้ดินไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนดโดย รฟม. ได้แก่ อุโมงค์ทางวิ่ง รฟม. ต้องเสียรูปไม่เกิน 6 มม. และการเปลี่ยนแปลงความเค้นไม่เกิน 25 kN/m2 การสัมมนาจะนำเสนอรายละเอียดการวิเคราะห์ผลกระทบต่ออุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดิน ขณะก่อสร้างทางโครงการได้ติดตั้งเครื่องมือการตรวจวัดอย่างครบถ้วนเพื่อตรวจสอบพฤติกรรมของระบบกำแพงกันดิน การลดระดับน้ำใต้ดินขณะขุดดินค้ำยัน เพื่อให้ควบคุมพฤติกรรมของกำแพง D-Wall เป็นไปตามที่ประเมินไว้ ปัจจุบัน Zone A ซึ่งติดกับอุโมงค์ทางวิ่งได้ก่อสร้างชั้นใต้ดินถึง Final Stage (เทพื้นชั้น Ground Floor) แล้ว ซึ่งเป็นขั้นตอนสึดท้ายที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่ออุโมงค์ทางวิ่งรถไฟฟ้าใต้ดินโดยผลกระทบต่ำกว่าเกณฑ์กำหนดของ รฟม. ผลการตรวจวัดสามารถนำมาเปรียบเทียบกับการประเมินเพื่อเป็นข้อมูลในการพัฒนาวิชาชีพทางวิศวกรรมปฐพีต่อไป